วันพฤหัสบดีที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

หลักการอ่านออกเสียงอักษรนำ

หลักการอ่านออกเสียงอักษรนำ
คำที่ผู้ฟังสนใจและสอบกันมากชนิดหนึ่งก็คือ การอ่านออกเสียงอักษรนำมีหลักเกณฑ์อย่างไร เช่น คำว่า "ศักราช" อ่านว่า "สัก - กะ - หราด" แต่ทำไมคำว่า "เอกราช" จึงอ่านว่า "เอก - กะ - ราด" ทำไมจึงไม่อ่านว่า "เอก - กะ - หราด" ให้เหมือน ๆ กัน หรืออำเภอ "จักราช" จังหวัดนครราชสีมา ทำไมจึง อ่านว่า "จัก - กะ - หราด" การอ่านคำต่าง ๆ ในภาษาไทยนั้นมีทั้ง "การอ่านตามหลัก" และ "การอ่านตามความนิยม" แต่เราก็ควรจะยึดหลักไว้ก่อน การอ่านตามความนิยมถือว่าเป็นข้อยกเว้น เช่น จังหวัด "ชัยนาท" เราออกเสียงว่า "ไช - นาด" ทั้ง ๆ ที่ตามหลักควรอ่านว่า
"ไช - ยะ - นาด" เช่นเดียวกับจังหวัด "ชัยภูมิ" ที่เราอ่านว่า "ไช - ยะ - พูม" ข้าพเจ้าได้อ่าน "เอกสารประกอบการเรียนรายวิชา ท ๖๐๕ ภาษาไทย"
ของ น.ส.สุวิมล มนัสศุภรานันท์ ซึ่งมีอยู่ตอนหนึ่งที่ได้กล่าวถึง "หลักการอ่านออกเสียงอักษรนำ" เห็นว่ามีประโยชน์มาก จึงขออนุญาตนำมาเผยแพร่อย่างรวบรัดพอเป็นแนวทางสำหรับพิจารณาต่อไปดังนี้ ๑. ถ้า "อ" และ "ห" นำอักษรเดี่ยว ไม่ออกเสียง "อ" และ "ห" แต่เสียงวรรณยุกต์ที่ออกนั้น ต้องออกเสียงเหมือนเสียงวรรณยุกต์ของตัวหน้าที่เป็นตัวนำ เช่น อย่า อยู่ อย่าง หยด หงิม ฯลฯ ๒. ถ้าอักษรสูงนำอักษรต่ำเดี่ยว ต้องออกเสียงวรรณยุกต์ของพยัญชนะตัวหลังให้มีเสียงสูงตามอักษรนำ เช่น เอา ห นำคำหลัง เช่น
ผนัง ออกเสียงว่า ผะ - หนัง
แผนก "ผะ - แหนก
สงบ " สะ - หงบ
สงวน " สะ - หงวน
๓. ถ้าอักษรกลางนำอักษรต่ำเดี่ยว ต้องออกเสียงวรรณยุกต์ของพยัญชนะตัวหลังตามเสียงอักษรกลางที่นำ คือ ตัวนำมีเสียงวรรณยุกต์อย่างไร พยัญชนะตัวหลังที่ถูกนำก็จะมีเสียงวรรณยุกต์อย่างเดียวกัน คือ เอา ห นำคำหลัง เช่น
ตลบ ออกเสียงว่า ตะ - หลบ
ตลาด "ตะ - หลาด
ปรอท " ปะ - หรอด
อนึ่ง" อะ - หนึ่ง
๔. ถ้าอักษรสูงนำอักษรต่ำคู่หรืออักษรกลาง ให้ออกเสียงวรรณยุกต์ของพยัญชนะตัวหลังตามเสียงวรรณยุกต์ของตัวมันเอง ไม่ต้องผันไปตามเสียงอักษรสูง เช่น
สบง ออกเสียงว่า สะ - บง
สบาย "สะ - บาย
ขจาย "ขะ - จาย
ขจร " ขะ - จอน
๕. ถ้าอักษรต่ำเป็นอักษรนำ ให้อ่านออกเสียงวรรณยุกต์พยัญชนะตัวหลังตามเสียงวรรณยุกต์ของตัวมันเอง เช่น
รหัส ออกเสียงว่า ระ - หัด
รโห" ระ - โห
ชบา " ชะ - บา
ชนัก "ชะ - นัก
แต่ทั้งนี้ก็มีข้อยกเว้นบางคำที่ไม่ออกเสียงตามกฎเกณฑ์ที่กล่าวมา เช่น
อัศวิน ออกเสียงว่า อัด - สะ - วิน (ไม่ใช่ อัด - สะ - หวิน)
กฤษณะ "กริด - สะ - นะ (ไม่ใช่ กริด - สะ - หนะ)
สมรรถภาพ " สะ - มัด - ถะ - พาบ (ไม่ใช่ สะ - หมัด - ถะ - พาบ)
วิษณุ " วิด - สะ - นุ (ไม่ใช่ วิด - สะ - หนุ)
เรื่องการอ่านออกเสียงคำในภาษาไทยก็นับว่าเป็นปัญหาที่ยุ่งยากใจเรื่องหนึ่ง เพราะบางทีก็ไม่ทราบว่าจะเอาอะไรเป็นเกณฑ์ หรือบางทีวางหลักเกณฑ์ไว้แล้ว ก็ยังมีข้อยกเว้นในบางกรณีอีก เราก็ไม่ทราบว่าในกรณีใดบ้างที่เป็นข้อยกเว้น จึงจำต้องอาศัยความสังเกตและความจำเป็นหลักสำคัญด้วย อย่างคำว่า "เอกราช" ที่เราออกเสียงกันว่า "เอก - กะ - ราด" นั้น ตามหลักต้องอ่านว่า "เอก - กะ หราด" ทำให้ข้าพเจ้านึกถึงกรรมการชำระปทานุกรมรุ่นใหญ่สมัยที่ข้าพเจ้าเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการชำระปทานุกรมใหม่ ๆ อยู่เสมอ นั่นคือ คุณพระธรรมนิเทศทวยหาญ ท่านไม่ยอมอ่านว่า "เอก - กะ - ราด" ท่านจะอ่านของท่านว่า "เอก - กะ - หราด" อยู่เสมอ

1 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ8 พฤษภาคม 2561 เวลา 21:13

    ขอบคุณอาจารย์โยธินค่ะ ดิฉันสอนภาษาไทยให้ต่างชาติ รู้สึกแย่มากเลยเลยเวลาสอน เพราะไม่สามารถอ้างอิงพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตได้เลย เพราะเปลี่ยนแปลงบ่อยมาก (เพราะยึดเอาความนิยมแทนที่จะยึดหลักการ) น่าเป็นห่วงภาษาไทยอย่างยิ่งค่ะ และที่น่าสงสารที่สุดคือเด็กๆ เพราะคนอธิบายก็อธิบายยากอยู่แล้ว แต่เปลี่ยนแปลงตลอด ครูจะอธิบายมากก็ไม่ค่อยเต็มปากนัก น่าสงสารคนเป็นครูผู้สอนด้วยค่ะ

    ตอบลบ